รูปภาพของฉัน
Thailand
วัดเขาภูคาจุฬามณี คือวัดเขาภูคา บ้างก็เรียกวัดถ้ำเขาภูคา ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นวัดมหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2513 โดยการดูแลของ พระอธิการสุชาติ อุชุโก ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส องค์ปัจจุบัน วัดเขาภูคามีถ้ำอันศักดิ์สิทธิ์น่าเที่ยวชม บนยอดจะประดิษฐ์พระเกศแก้วจุฬามณีพระพุทธรูปครึ่งองค์ และรอยพระพุทธบาทพระสิทธัตถะ (เป็นพระพุทธบาทอันแท้จริงซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกแผ่นดินแล้ว) ซึ่งโดยรอบพระพุทธบาทจะครอบด้วยมณฑปขนาดใหญ่มีความสงบร่มเย็นเหมาะแก่การปฏิบัติเจริญสมาธิ จึงได้มีญาติโยมในท้องถิ่นและชาวจังหวัดใกล้เคียงหลั่งไหลกันมาปฏิบัติธรรม และเยี่ยมชมสิ่งประดิษฐ์อันงดงาม ที่ธรรมชาติและบรรพบุรุษได้บรรจงสร้างให้แก่ชนรุ่นหลัง

22 ตุลาคม 2551

นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์













นางนพมาศ เป็นธิดาของพระศรีมโหสถกับนางเรวดี บิดาเป็นพราหมณ์ปุโรหิตในสมัยพระยาเลอไท นางนพมาศมีรูปสมบัติและคุณสมบัติที่งดงาม ได้รับการอบรมจากบิดา มีความรู้ทางอักษรศาสตร์ พุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ การช่างของสตรี ตลอดจนการขับร้องดนตรี ถวายตัวเป็นสนมทำหน้าที่ขับร้องถวาย นางนพมาศ ได้ถวายตัวเข้ารับราชการในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ในยุคสุโขทัย เป็นที่โปรดปรานจนได้เป็นสนมเอกตำแหน่ง ”ท้าวศรีจุฬาลักษณ์”


นางนพมาศ ได้เขียนหนังสือ”ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ขึ้นเพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติตนในการเข้ารับราชการของนางสนมกำนัลทั้งหลาย

ตัวอย่าง บางตอนจากตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์

1. ข้อปฏิบัติของข้าราชการฝ่ายใน "อย่าทำรีๆ ขวางๆ ให้เขาว่า อย่าทำเซ่อๆ ซ่าๆ ให้ท่านหัว อย่าประพฤติตัวเก้อๆ ขวยๆ ให้คนล้อ อย่าทำลับๆ ล่อๆ ให้เขาถาก อย่างทำโปกๆ ปากๆ ให้ท่านว่ากิริยาชั่ว จงแต่งตัวให้งามต้องตาคน จะประพฤติตนให้ต้องใจท่านทั้งหลาย จงฝากตัวมูลนายให้กรุณา จงระวังเวลาราชการ….."
2. การประดิษฐ์ โคมในพระราชพิธีจองเปรียง "ข้าพระองค์สำคัญใจคิดเห็นว่า เป็นนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสอง พระจันทร์แจ่มแสงปราศจากเมฆมลทิน อันว่าดวงดอกชาติโกสุมประทุมมาลย์ มีแต่จะเบ่งบานกลีบรับแสงอาทิตย์ ถ้าชาติอุบลเหล่าใดบานผกาเกสรรับแสงพระจันทร์แล้วก็ได้ชื่อว่า ดอกกระมุท ข้าพระองค์จึงทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทซึ่งบังเกิดมีอยู่ยังนัมมทานทีอันเป็นที่พระบวรพุทธบาทประดิษฐาน"

ที่มา วรรณคดีสมัยสุโขทัย ของ เอกรัตน์ อุดมพร

เรื่องนี้แต่งด้วยร้อยแก้ว แต่มีคำประพันธ์ลักษณะเป็นกลอนดอกสร้อยแทรกอยู่บ้าง ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นใหม่ในมัยรัตนโกสินทร์ เพราะภาษาที่ใช้แตกต่างจากภาษาที่ใช้ในวรรณคดีที่แต่งในยุคเดียวกันคือ คือศิลาจารึกหลักที่ 1 และ ไตรภูมิพระร่วง เนื้อเรื่องในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงประเพณีต่างๆ ของไทย เช่น การประดิษฐ์พานหมากสองชั้นรับแขกเมือง การประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) เพื่อใช้ในพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป (ลอยกระทง) ซึ่งประเพณีนี้ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "หนังสือนางนพมาศ"

นางนพมาศได้ทำคุณงามความดีเป็นที่โปรดปรานของพระร่วง มีอยู่ 3 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่1 เข้าไปถวายตัวอยู่ในวังได้ห้าวันก็ถึงพระราชพิธีองเปรียงลอยพระประทีป(ลอยกระทง)นางได้คิดประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) มีนกเกาะดอกไม้สีสวยๆ ต่างๆ กัน เป็นที่โปรดปรานของพระร่วงมาก
ครั้งที่2 ในเดือนห้ามีพิธีคเชนทร์ศวสนาน เป็นพิธีชุมนุมข้าราชการทุกหัวเมือง มีเจ้าประเทศราชขึ้นเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการด้วย ในพิธีนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงรับแขกด้วยเครื่องหมากพลู นางนพมาศได้คิดประดิษฐ์พานหมากสองชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้งดงาม พระร่วงทรงโปรดปรานและรับสั่งว่า ต่อไปผู้ใดจะทำการมงคลก็ดี รับแขกก็ดี ให้ใช้พานหมากรูปดังนางนพมาศประดิษฐ์ขึ้น ซี่งเป็นต้นเหตุของพานขันหมากเวลาแต่งงาน ซึ่งยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน
ครั้งที่3 นางได้ประดิษฐ์พนมดอกไม้ถวายพระร่วงเจ้าเพื่อใช้บูชาพระรัตนตรัย พระร่วงทรงพอพระทัยในความคิดนั้น ตรัสว่าแต่นี้ต่อไปเวลามีพิธีเข้าพรรษาจะต้องบูชาด้วยพนมดอกไม้กอบัวนี้ นางนพมาศเป็นบุคคลที่ได้สมญาว่า "กวีหญิงคนแรกของไทย" ดังเช่นที่เขียนไว้ว่า "ทั้งเป็นสตรี สติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุ กำลังจะรักรูปและแต่งกาย ซึ่งอุตสาหะพากเพียร กล่าวเป็นทำเนียบไว้ ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้สตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศ กระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วยงเจ้ากรุงมหานครสุโขทัย ตั้งจิตคิดสิ่งซึ่งเป็นการควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฎชื่อแสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน "

นี่คือนางนพมาศ สนมเอกของสมเด็จพระร่วงเจ้า


Read More

ลอยกระทง ประเพณีลอยกระทง













วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทยส่วนใหญ่ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือเดือนยี่(เดือนที่ 2) ตามปฏิทินจัทรคติล้านนา"มักจะ" ตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตาม ปฏิทินสุริยคติ ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อ พระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทย

การลอยกระทงในเมืองไทย มีมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย เรียกว่า "การลอยพระประทีป" หรือ "ลอยโคม"หรือ ลอยโคม เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม การลอยกระทงหรือลอยโคมในสมัยนางนพมาศ กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา


การลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท
รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่ไปปรากฏอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ คือ ครั้งหนึ่งพญานาคทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พญานาคทูลขออนุสาวรีย์ไว้กราบไหว้บูชา พระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานรอบพระพุทธบาทไว้ที่หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพื่อให้บรรดานาคทั้งหลายได้สักการะ บูชา
การลอยกระทงที่มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ยังมีอีก 2 เรื่อง คือ
1. การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ และ
2. การลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธองค์ในวันที่เสด็จกลับจากเทวโลก


ตำนานการลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี
เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลากลางคืนด้วยม้ากัณฐกะ พร้อมนายฉันทะมหาดเล็กผู้ตามเสด็จ ครั้นรุ่งอรุณก็ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที เจ้าชายทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดี
เมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จลงประทับเหนือหาดทรายขาวสะอาด ตรัสให้นายฉันทะนำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร ทรงตั้งพระทัยปรารภจะบรรพชา โดยเปล่งวาจา "สาธุ โข ปพฺพชฺชา" แล้ว จึงทรงจับพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ตัดพระเมาลี แล้วโยนขึ้นไปบนอากาศ พระอินทร์ได้นำผอบทองมารองรับพระเมาลีไว้ และนำไปบรรจุยังพระจุฬามณีเจดียสถานในเทวโลก
พระจุฬามณีตามปกติมีเทวดาเหาะมาบูชาเป็นประจำแม้พระศรีอริยเมตไตรยเทวโพธิสัตว์ซึ่งในอนาคต จะมาจุติบนโลกและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งก็ยังเสด็จมาไหว้ การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี จึงถือเป็นการไหว้บูชาพระศรีอริยไตรยด้วย


ตำนานการลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชจนได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หลังจากเผยพระธรรมคำสั่งสอนแก่สาธุชนโดยทั่วไปได้ระยะหนึ่ง จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดา ครั้งจำพรรษาจนครบ 3 เดือน พระองค์จึงเสด็จกลับลงสู่โลกมนุษย์ เมื่อท้าวสักกเทวราชทราบพุทธประสงค์ จึงเนรมิตบันไดทิพย์ขึ้น อันมี บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้ว ทอดลงสู่ประตูเมืองสังกัสสนคร บันไดแก้วนั้นเป็นที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลง บันไดทองเป็นที่สำหรับเทพยดาทั้งหลายตามส่งเสด็จ บันไดเงินสำหรับพรหมทั้งหลายส่งเสด็จ
ในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ครั้งนี้ เหล่าทวยเทพและประชาชนทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันทำ การสักการบูชาด้วยทิพย์บุปผามาลัย การลอยกระทงตามคตินี้ จึงเป็นการรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากดาวดึงส์พิภพ (เป็นตำนานเดียวกับประเพณีการตักบาตรเทโวรับเสด็จพระพุทธองค์ลงจากดาวดึงส์


การลอยกระทง เพื่อบูชาพระนารายณ์บรรทมสินธุ์
ยังมีพิธีการลอยกระทงตามคติพราหมณ์อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ พระนารายณ์ที่บรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร นิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็น 2 ระยะ จะทำในกำหนดใดก็ได้


ตำนานการลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม
นิทานต้นเหตุเกี่ยวกับอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นนิทานชาวบ้าน กล่าวถึงเมื่อครั้งดึกดำบรรพ์ มีกาเผือกสองตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นไม้ในป่าหิมพานต์ใกล้ฝั่งแม่น้ำ วันหนึ่งกาตัวผู้ออกไปกากินแล้วหลงทานกลับรังไม่ได้ ปล่อยให้นางกาตัวเมียซึ่งกกไข่อยู่ 5 ฟองรอด้วยความกระวนกระวายใจ จนมีพายุใหญ่พัดรังกระจัดกระจาย ฟองไข่ตกลงน้ำ แม่กาถูกลมพัดไปทางหนึ่ง

เมื่อแม่กาย้อนกลับมามีรังไม่พบฟองไข่ จึงร้องไห้จนขาดใจตาย ไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหมอยู่ในพรหมโลก ฟองไข่ทั้ง 5 นั้นลอยน้ำไปในสถานที่ต่างๆ บรรดาแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โคและแม่ราชสีห์ มาพบเข้า จึงนำไปรักษาไว้ตัวละ 1 ฟอง ครั้งถึงกำหนดฟักกลับกลายเป็นมนุษย์ทั้งหมดไม่มีฟองไหนเกิดมาเป็นลูกกาตามชาติกำเนิดเลย กุมารทั้ง 5 ต่างเห็นโทษภัยในการเป็นฆราวาสและเห็นอานิสงส์ในการบรรพชา จึงลามารดาเลี้ยงไปบวชเป็นฤาษีทั้ง 5 ได้มีโอกาสพบปะกันและถามถึงนามวงศ์และมารดาของกันและกัน จึงทราบว่าเป็นพี่น้องกัน ฤาษีทั้ง 5 มีนามดังนี้

คนแรก ชื่อ กกุสันโธ (วงศ์ไก่)
คนที่สอง ชื่อ โกนาคมโน (วงศ์นาค)
คนที่สาม ชื่อ กัสสโป (วงศ์เต่า)
คนที่สี่ ชื่อ โคตโม (วงศ์โค)
คนที่ห้า ชื่อ เมตเตยโย (วงศ์ราชสีห์)
ต่างตั้งจิตอธิษฐาน ว่าถ้าต่อไปจะได้ไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ร้อนไปถึงมารดา ด้วยแรงอธิษฐาน ท้าวพกาพรหมจึงเสด็จมาจากเทวโลก จำแลงองค์เป็นกาเผือก แล้วเล่าเรื่องราวแต่ทนหลังให้ฟัง พร้อมบอกว่าถ้าคิดถึงมารดา เมื่อถึงเพ็ญเดือน 11 เดือน 12 ให้เอาด้ายดิบผูกไม้ตีนกา ปักธูปเทียนบูชาลอยกระทงในแม่น้ำ ทำอย่างนี้เรียกว่าคิดถึงมารดา แล้วท้าวพกาพรหมก็ลากลับไป
ตั้งแต่นั้นมา จึงมีการลอยกระทงเพื่อบูชาท้าวพกาพรหม แล้วเพื่อบูชารอยพระบาท ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ส่วนฤาษีทั้ง 5 ต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้

ฤาษีองค์แรก กกุสันโธ ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกกุสันโธ
ฤาษีองค์ที่สอง โกนาคมโน ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระโกนาคมน์
ฤาษีองค์ที่สาม กัสสโป ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกัสสปะ
ฤาษีองค์ที่สี่ โคตโม ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสมณโคดม
ฤาษีองค์ที่ห้า เมตเตยโย ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระศรีอาริยเมตไตรย
พระพุทธเจ้า 3 พระองค์แรก ได้มาบังเกิดบนโลกแล้วในอดีตกาล พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 คือ พระพุทธเจ้าที่จะมาบังเกิดบนโลกในอนาคต ได้แก่ พระศรีอาริยเมตไตรย

ตำนานการลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตต์

การลอยกระทงเพื่อบุชาพระอุปคุตต์นี้ เป็นประเพณีของชาวเหนือและชาวพม่า พระอุปคุตต์เป็นพระอรหันต์เถระหลังสมัยพุทธกาล โดยมีตำนานความเป็นมาดังนี้เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้โปรดให้สร้างพระสถูปเจดีย์และพุทธวิหารขึ้นทั่วชมพูทวีป มหาวิหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ "อโศการาม" ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแคว้นมคธ หลังจากที่สร้างพระสถูปเจดีย์ถึง 84,000 องค์สำเร็จแล้ว พระเจ้าอโศกทรงมีพระราชประสงค์จะนำพระบรมสารีริกธาตุของสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปบรรจุในในพระสถูปต่างๆ และบรรจุในพระมหาสถูปองค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นใหม่มีความสูงประมาณครึ่งโยชน์ และประดับประดาด้วยแก้วต่างๆ ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาให้ปาฎลีบุตร อีกทั้งต้องการให้มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วันแต่ด้วยเกรงว่าพญามารจะมาทำลายพิธีฉลอง มีเพียงพระอุปคุตต์ที่ไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลเพียงท่านเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถปราบพญามารได้ เมื่อพระอุปคุตต์ปราบพญามารจนสำนึกตัวหันมายึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว พระอุปคุตต์จึงลงไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลตามเดิมพระอุปคุตต์นี้ไทยเรียกว่า พระบัวเข็ม ชาวไทยเหนือหรือชาวอีสานและชาวพม่านับถือพระอุปคุตต์มาก ชาวพม่าไม่ว่าจะมีงานอะไรเป็นต้องนิมนต์มาเช้าพิธีด้วยเสมอ ไทยเราใช้บูชาในพิธีขอฝนหรือพิธีมงคลฯลฯ

การลอยกระทงของชาวเหนือ (ยี่เป็ง) การลอยกระทงของชาวเหนือ นิยมทำกันในเดือนยี่เป็ง (คือเดือนยี่หรือเดือนสอง เพราะนับวันเร็วกว่าของเรา 2 เดือน) เพื่อบูชาพระอุปคุตต์ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล ตรงกับคติของชาวพม่า

การลอยกระทงของชาวอีสาน (ไหลเรือไฟ) การลอยกระทงในภาคอีสาน เรียกว่าเทศกาลไหลเรือไฟจัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ในจังหวัดนครพนม โดยการนำหยวกกล้วยหรือวัสดุต่างๆ มาตกแต่งเป็นรูปพญานาคและรูปอื่นๆ ตอนกลางคืนจุดไฟปล่อยให้ไหลไปตามลำน้ำโขงดูสวยงามตระการตานอกจากนี้ยังมีประเพณีลอยกระทงในประเทศต่างๆ เช่นที่เขมร จีน อินเดีย โดยมีคติความเชื่อและประวัติความเป็นมาตรงกันบ้างแตกต่างกันไป

การลอยกระทงในปัจจุบัน การลอยกระทงในปัจจุบัน ยังคงรักษารูปแบบเดิมเอาไว้ได้ตามสมควร เมื่อถึงวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงในเดือน 12 ชาวบ้านจะจัดเตรียมทำกระทงจากวัสดุที่หาง่ายตามธรรมชาติ เช่น หยวกกล้วยและดอกบัว นำมาประดิษฐ์เป็นกระทงสวยงาม ปักธูปเทียนและดอกไม้เครื่องสักการบูชา ก่อนทำการลอยในแม่น้ำก็จะอธิษฐานในสิ่งที่มุ่งหวัง พร้อมขอขมาต่อพระแม่คงคาตามคุ้มวัดหรือสถานที่จัดงานหลายแห่ง มีการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ และมีมหรสพสมโภชในตอนกลางคืน นอกจากนั้นยังมีการจุดดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล ซึ่งในการเล่นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษวัสดุที่นำมาใช้กระทง ควรเป็นของที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ

สรุปเหตุผลในการลอยกระทง

1. เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทและบูชาเทพเจ้า ตามคติความเชื่อ

2. เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้ มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา

3. เพื่อรู้ถึงคุณค่าของน้ำหรือแม่น้ำลำคลอง อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรง

ที่มา http://www.banfun.com



Read More

17 ตุลาคม 2551

16 ตุลาคม 2551

สถานีวิทยุกระจายเสียงสังฆทานธรรม ประจำจังหวัดนครสวรรค์ FM 91.40 MHz. วัดเขาภูคาจุฬามณี


วัตถุประสงค์การก่อตั้งสถานีวิทยุสังฆทานธรรม

  1. เผยแพร่หลักธรรม คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
  2. อนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และประเพณีอันดีงามของชาติ
  3. ปลูกฝังให้ประชาชนทีทัศนคติ ค่านิยมที่เป็นธรรม ดีงาม สร้างสรรค์ รักและรับผิดชอบต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รู้ในพระคุณของแผ่นดินและบรรพบุรุษ
  4. ส่งเสริมนโยบาย และประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติทั้งทางด้านการศึกษา การปกครอง การเศรษฐกิจ และสังคม
  5. ส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจ ร่วมแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชน
  6. เป็นสื่อกลางประชาสัมพันธ์และกระจายข่าวสารจากรัฐบาลไปสู่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีที่ถูกต้องรวดเร็ว
  7. สนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นส่งเสริมหลักการศึกษาที่มุ่งเน้น “คุณธรรมนำความรู้” เพื่อพัฒนาทักษะคุณภาพชีวิตทั้งด้านการอาชีพและการอนามัยโดยเสมอภาค
  8. เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
  9. ดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และไม่มุ่งหวังกำไรในเชิงธุรกิจ
  10. เป็นการปลูกฝังเยาวชนของชาติให้มี ความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีต่อพระพุทธศาสนา สามารถนำไปใช้กับชีวิตประจำวันได้


Read More

15 ตุลาคม 2551

ติดต่อวัด

วัดเขาภูคา ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ 60140
วัดเขาภูคา โดยพระอาจารย์ สุชาติ อุชุโก มีความเมตตาจัดที่พักในการปฏิบัติธรรม ให้แก่ญาติโยมผู้ต้องการจะมาปฏิบัติธรรมที่วัดในระยะสั้น เนื่องจากวัดเขาภูคาเป็นสถานที่สงบจึงรับได้ครั้งละไม่มากควรโทรแจ้งไว้ก่อน วัดเขาภูคาตั้งบนบริเวณเดียวกับภูเขา ผู้ต้องการความสงบสันโดษต้องการปักกลด พักเต๊นท์ก็สามารถเตรียมมาได้ ระยะทางในการเดินทางก็ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สามารถไปกลับได้ในวันเดียว สอบถามข้อมูลได้ที่ วัดเขาภูคา ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โทร.087-571-1290
คลังภาพ-วัดเขาภูคา http://watkhaophukadhamma.blogspot.com/


Read More

11 ตุลาคม 2551

พระอธิการสุชาติ อุชุโก


พระอธิการสุชาติ อุชุโก ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส องค์ปัจจุบัน

วัดเขาภูคา โดยพระอาจารย์ สุชาติ มีความเมตตาจัดที่พักในการปฏิบัติธรรม ให้แก่ญาติโยมผู้ต้องการจะมาปฏิบัติธรรมที่วัดในระยะสั้น เนื่องจากวัดเขาภูคาเป็นสถานที่สงบจึงรับได้ครั้งละไม่มาก วัดเขาภูคาตั้งบนบริเวณเดียวกับภูเขา ผู้ต้องการความสงบสันโดษต้องการปักกลด พักเต๊นท์ก็สามารถเตรียมมาได้ ระยะทางในการเดินทางก็ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สามารถไปกลับได้ในวันเดียว สอบถามข้อมูลได้ที่ วัดเขาภูคา ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โทร.087-571-1290

Read More

พระอาจารย์สามารถ


อยู่ในระหว่างรอการลงบันทึกข้อมูล

ส่วนที่เหลือ

Read More

หลวงพ่อ พลอย เตชยโล


อยู่ในระหว่างรอการลงบันทึกข้อมูล

ส่วนที่เหลือ

Read More

09 ตุลาคม 2551

หลวงปู่บุดดาเล่าเหตุการณ์

หลวงปู่บุดดา เยี่ยมโยมศีลา โยมนวน โยมผู้ใหญ่สมศักดิ์ และได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหลวงปู่ให้โยมทั้งสามคนฟังว่า

ก่อนบรรลุธรรมนั้นหลวงปู่ได้เห็นนิมิตกรรมเก่าว่าเคยได้ตกปลา เวลาที่จะบรรลุธรรมจริงๆนั้นได้มีตะขาบตัวหนึ่งมาไต่ที่หัวไหล่และขึ้นไปจะกัดที่ศีรษะของหลวงปู่ ขณะนั้นหลวงปู่สงฆ์ได้เห็นแจ้งในจิต เห็นตะขาบจะกัดหลวงปุ่บุดดา จึงส่งกระแสจิตเตือนตะขาบนั้นว่า “อย่าทำพระ อย่าทำพระ พระจะไปนิพพาน” แล้วตะขาบตัวนั้นก็ร่วงจากศีรษะหลวงปู่บุดดา เรื่องที่หลวงปู่เล่านั้นตรงกับเหตุการณ์ทุกอย่างที่ได้เล่าไว้ในบันทึก ตอนที่หลวงปู่บรรลุธรรม ได้มีเสียงสนทนธรรมระหว่างหลวงปู่สงฆ์กับหลวงปู่บุดดา

Read More

ขอตั้งวัด พ.ศ 2506

ปี พ.ศ. 2499 เมื่อจดทะเบียนเป็นหมู่บ้านแล้ว หลวงปู่ทั้งสอง (หลวงปู่สงฆ์ พรหมสโร และหลวงปู่ดบุดดา ถาวโร) ก็จาริกกลับไปแล้ว ชาวบ้านก็ได้นิมนต์พระจากวัดสว่างมาทำบุญ

ขณะนั้นก็ยังไม่มีศาลา ก็ต้องเข้าไปทำบุญในถ้ำ ชาวบ้านก็ได้เรียนหนังสือ โดยเรียนในถ้ำมีครูหยุน เจริญทัพ อยู่บ้านหนองสีนวล มาสอนโดยการเดินเท้ามาสอนนักเรียน วันหนึ่งหลวงปู่สุข มาอยู่ได้ร่วมกันกับชาวบ้านปั้นพระพุทธรูปในถ้ำองค์แรกแล้วทำศาลามุงแฝกข้างล่าง เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำบุญ เรียนหนังสื่อ เมื่อมีพระพุทธรูปแล้ว มีศาลาแล้ว จึงได้ให้ลุงแพง แสงสีนิล ซึ่งตอนนั้นเป็นทหารผ่านศึกอยู่ได้ไปขออนุญาตทางอำเภอตั้งวัด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 หลังจากนั้นมานานชาวบ้านก็ได้ร่วมกันบริจาคไม้บางส่วนของบ้านตนองช่วยกันสร้างศาลาได้อย่างมั่นคง จนกระทั่งวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2513 จึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา อย่างเป็นทางการ

Read More

หลวงปู่สงฆ์ หลวงปู่บุดดามาธุดงค์


วันหนึ่งได้มีพระธุดงค์รูปหนึ่ง(หลวงปู่สงฆ์) เดินทางมาถึง ณ ถ้ำแห่งนี้ ท่านได้เห็นว่าภูเขาลูกนี้มีถ้ำและป่าที่สงบ

สงบ มีบ้านชาวบ้านอยู่รอบๆก็น้อย ท่านว่าเหมาะที่จะเป็นที่ปฏิบัติภาวนาจึงเลือกจะอยู่ที่นี้ เมื่อตาเห็นพระธุดงค์มาอยู่ที่ถ้ำนี้ก็บอกชาวบ้านมากราบไหว้ ชาวบ้านพอรู้ว่ามีพระธุดงค์มาปฏิบัติภาวนาที่ถ้ำแห่งนี้ก็นำอาหารมาทำบุญตักบาตร นำดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้ เช่น ต้นจำปา(ต้นลั่นทม) ซึ่งอยู่หน้าถ้ำปัจจุบันก็มีชาวบ้านนำมาบูชาแล้วก็ปักไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ามีพระปฏิบัติอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ตาศีลาได้ปวารณากับหลวงปู่เพื่อคอยดูแล และปฏิบัติตลอดที่หลวงปู่ปฏิบัติธรรมอยู่ในถ้ำนี้ ภายในถ้ำหลวงปู่ได้เลือกชั้นที่ 2 เป็นที่นั่งวิปัสสนาตลอดทั้งวัน เมื่อตกตอนเย็นหลวงปู่จะออกมาเดินจงกลมบริเวณหน้าถ้ำ ตอนที่หลวงปู่เดินนั้นก็จะมีนกยูงมาลำแพนอยู่ตลอด
ต่อมาหลวงปู่บุดดา ถาวโร ก็ได้เดินธุดงค์ตามหาหลวงปู่สงฆ์ แล้วมาพบกันยังถ้าภูคาแห่งนี้ หลวงปู่บุดดาได้เลือกชั้นที่ 1 ภายในถ้ำเป็นที่นั่งวิปัสสนา เมื่อหลวงปู่ทั้งสอง รูปมาพบกันแล้วท่านก็ทำความเพียรตลอด วันพระท่านก็มาโปรดญาติโยมที่มาทำบุญในถ้ำ หลวงปู่อยู่ปฏิบัติภาวนาอยู่ที่ถ้ำภูคาประมาณ 2 ปี วันหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่ทั้งสอง ทำความเพียรอยู่นั้น ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นก็ได้ยินเสียงดังกึกก้องอยู่บนเขาเหมือนกับเป็นเสียงตอบโต้กันไปมาอยู่พักใหญ่ แล้วก็เห็นแสงสว่างสาดส่องออกมายังปล่องถ้ำ จากนั้นเสียงนั้นก็เงียบหายไป แสงสว่างก็ไม่มี ณ วันนี้นี่เองชาวบ้านก็ยังหารู้ไม่ว่าเป็นวันที่หลวงปู่สำเร็จธรรมแล้ว หลวงปู่ทั้งสองก็จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูคาต่ออีกประมาณ 1 ปีเศษ ก็แยกย้ายกันไปจาริกธรรม
หลังจากที่หลวงปู่ทั้งสองได้ไปจากถ้ำภูคาแล้วก็มีพระปฏิบัติมาตามหาหลวงปู่เพื่อที่จะปฏิบัติธรรมด้วยหลายองค์ เช่น หลวงปู่แหวน , หลวงปู่ชา , หลวงพ่อพรม , หลวงพ่อลี , อาจารย์อ่อน , อาจารย์กุมมา พระที่เดินทางมาที่ถ้ำแห่งนี้ต่างก็บอกกับชาวบ้านที่นี้ว่า หลวงปู่ทั้งสองนั้นได้สำเร็จธรรม ณ ถ้ำนี้แล้ว

Read More

ก่อตั้งบ้านเขาภูคา




ตาศีลา เกิดที่บ้านคามหาม จ. ร้อยเอ็ด เมื่ออายุได้ 13 ปี ได้บวชเป็นสามเณร ได้เดินเท้าตามพระรูปหนึ่งมายัง

จังหวัดลพบุรี ต่อมาพระและตาศีลาได้แยกทางกันและตาสีลาก็ได้สึก โดยต่อมาได้แต่งงาน อยู่กินกับยายมนฑา ที่บ้านหนองทรายขาว อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ประกอบอาชีพทำนา ด้วยความที่แม่ยายคือ นางชวดแบนมีลูกมากและลูกๆก็ได้แต่งงานออกเรือนไปก็ไม่มีที่ทำกิน จึงคิดที่จะหาที่ทำกินใหม่เพื่อตั้งหลักปักฐานใหม่ ดังนั้นนางชวดแบนจึงเรียกตาศีลาและลูกมาคุยกันว่าจะย้ายถิ่นฐานหาที่ทำกินใหม่ ตาศีลาจึงพาครอบครัวและญาติๆอพยพขึ้นมาทางเหนือ โดยขึ้นรถไฟมาลงที่สถานีบ้านหัวหวาย ตาได้เล่าให้ฟังว่า ครั้นมาถึงตาคลีก็คิดจะจับจองที่ดินแถวนี้ แต่เมือดูแล้วมีน้อยและเป็นป่าหนาม ป่ารัก ถ้าทำนามันคงไม่เจริญงอกงามแน่ จึงพักค้างคืนหนึ่งที่หัวหวายแล้วเดินต่อต่อมาเรื่อยๆจนได้พบกับภูเขาลูกนี้ สมัยนั้นบริเวณภูเขาลูกนี้ก็เป็นป่าไม้รวก , ป่าไผ่ , ป่าเบญจพรรณ มีสัตว์ป่าต่างมากมากมายไม่วาจะเป็น เสือ , ช้าง , นกยูง , ไก่ป่า ตาและญาติๆได้ช่วยกันถากถางแล้วปลูกกระท่อมอาศัยอยู่ชั่วคราว การอพยพมาครั้งแรกนี้มีแต่ครอบครัว ลูกๆหลานๆของนางชวดแบนรวม 23 หลังคา และเรียกหมู่บ้านใหม่ว่า “เขาภูคา” ซึ่งสอดคล้องกับบ้านเดิมของนางชวดแบน คือ บ้านพุคา ต. เขาพระงาม จ. ลพบุรี โดยมีตาสีลาเป็นหัวหน้า
จากนั้นก็ได้จับจองที่ดินกันจนสามารถที่จะทำไร่ ทำนาได้ ขณะนั้นตาศีลาทำไร่ ทำนาและทำงานอีเตอร์ (คนงานทำทางรถไฟ) ชาวบ้านบางคนก็ตัดฟืนหลาส่งให้กับการรถไฟ สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านสมัยนั้นก็อยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยกันฟันไม้ เลื่อยไม้ มาทำที่อยู่อาศัยแบบถาวร อาหารก็หาของป่ามากิน การเดินก็ต้องเดินเท้า จะไปตลาดในแต่ละทีก็ต้องเดินเท้าไปที่สถานีรถไฟดงมะกู เพื่อขึ้นรถไฟไปลงที่ตลาดตาคลี จะไปหาญาติพี่น้องต่างหมู่บ้านก็ต้องใช้วิธีเดินเท้าไป ตาบอกว่านานๆถึงจะออกไปตลาด จะออกไปครั้งหนึ่งก็เมื่อมีงานบุญใหญ่ๆ เช่น เข้าพรรษา ออกพรรา ทำบุญสาด แต่ก่อนนั้นไม่มีวัดไม่มีพระ ถึงวันพระทีชาวบ้านก็พากันทำบุญที่วัดสว่างวงษ์ตาคลี
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2499 ทางราชการประกาศให้บุคคลที่ไม่มีนามสกุล ให้ไปจดทะเบียนขอนามสกุลได้ ตาศีลาก็ได้ไปจดทะเบียนนามสกุล คือเอาชื่อพ่อของตาและชื่อแม่ของตามาตั้งเป็นนามสกุล คือพ่อชื่อ แสง แม่ชื่อ นิลจึงของจดทะเบียนนามสกุลว่า “แสงสีนิล” ทั้งนี้ตาก็ขอจดทะเบียนชื่อหมู่บ้านพร้อมเลย โดยแยกออกมาจากหมู่ 1 หัวหวาย มาเป็นชื่อหมู่บ้านเขาภูคา หมู่ 2 ต. หัวหวาย ด้วยความที่ตาเป็นคนโอบอ้อมอารีย์ ตาได้เดินทางกลับไปยังภาคอีสานบ้านเกิดของตาและได้ชวนเพื่อนและหลานๆของท่านมาอยู่ที่เขาภูคาด้วยกัน แล้วก็แบ่งที่ทำกินให้ รวมผู้ที่อพยพมาทั้งทางบ้านหมี่และภาคอีสานด้วย

Read More

08 ตุลาคม 2551

หลวงพ่อพลอยฝากวัด


ในขณะที่สร้างพระเกศแก้วจุฬามณี ปีที่จะเสร็จหลวงพ่อพลอยเริ่มป่วย
เป็นโรคมะเร็งที่ต่อมทอลซิน แต่หลวงพ่อได้ใช้ธรรมะบำบัดมาโดยตลอด ชาวบ้านและญาติโยม ได้ให้หมอพื้นบ้านใช้สมุนไพรรักษาอาการก็ดีขึ้นบ้าง จากที่เคยเดินขึ้นเขาไม่ได้ก็เดินขึ้นเขาได้เพื่อตรวจสอบการก่อสร้าง จวบจนสร้างมณฑปเสร็จอาการหลวงพ่อพลอยก็เริ่มหนักขึ้น แม่ชีได้พาหลวงพ่อเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อมารักษาที่โรงพยาบาลศิริราชแล้วกลับมาพักที่วัดเป็นเช่นนี้ตลอด จนกระทั้งร่างการสู้กับโรคไม่ไหว ท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชอีกครั้ง และครั้งนี้เองหลวงพ่อก็ได้อยู่พักที่วัดสังฆทาน และได้มรณภาพที่วัดสังฆทาน และก่อนที่หลวงพ่อจะมรณภาพนั้นหลวงพ่อท่านได้ฝากวัดเขาภูคาให้กับหลวงพ่อสนอง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สังวาลย์ เขมโก พ่อแม่ครูบาอาจารย์เดียวกัน

และจากนั้นเป็นต้นมาหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ เจ้าอาวาสวัดสังฆทาน ต.บางไผ่ จ.นนทบุรี ได้ส่งพระจากวัดสังฆทานมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาภูคานี้ มาตลอดจนปัจจุบันมีพระอธิการสุชาติ อุชุโก ดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

Read More

มณฑปครอบรอยพระพุทธบาท




เมื่อพระเกศแก้วจุฬามณีสร้างเสร็จสิ้นแล้ว หลวงพ่อพลอยจึงได้สร้างบันไดขึ้นเขา และสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท โดยได้รับปัจจัยจากคุณสุวรรณ อังคเกตุและญาติโยมชาวตาคลี หัวหวาย เขาภูคา และหมู่บ้านใกล้เคียง

Read More

รอยพระพุทธบาท




ขณะที่สร้างพระเกศแก้วจุฬามณีนั้นเป็นเวลาหลายครั้งหลายคืน ชาวบ้านที่มาช่วยกันขนปูนทรายก็ได้เห็นว่ามีแสงรัศมีสีเขียวนวลพุ่งขึ้นมาจากด้านหลังของพระเกศแก้วหรือทางทิศเหนือ

วันหนึ่งขณะที่หลวงพ่อพลอย เตชพโล สร้างพระเกศแก้ว ได้มีพระเพื่อนของหลวงพ่อพลอย ได้เดินทางปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาบนยอดเขาภูคา ท่านเดินไปเห็นมีอ่างน้ำขนาดเล็กๆซึ่งมีดอกบัวสีม่วงขึ้นอยู่ในอ่าง จึงได้ปักกลดอยู่บริเวณนั้น จึงนิมิตเห็นภาพคล้ายรอยพระพุทธบาท จึงมาขอแรงชาวบ้านมาขุดและล้างทำความสะอาดโกยดินออกหมดเห็นรอยเท้ามี 5 นิ้วจึงแน่ในว่าต้องเป็น "รอยพระพุทธบาท" ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยลักษะนั้นทรงเหยียบที่ใดแม้โรยฝุ่นขาวก็จะไม่ปรากฏรอยให้เห็น แต่ถ้าประสงค์จะให้ปรากฏรอยแม้หินผาหรือแผ่นเหล็กก็จะอธิษฐานให้ปรากฏได้ ใหญ่เล็กตามปราถนา ด้วยเหตุนี้หลังจากนั้นหลวงพ่อพลอยได้ถ่ายภาพรอยพระพุทธบาทที่พบไปให้กรมศิลปากรพิสูจน์ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่แท้จริงหรือไม่ ปรากฏว่า เป็นรอยพระพุทธบาทถูกต้องตามพุทธลักษณะ จึงขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกแผ่นดินว่าเป็น "รอยพระพุทธบาทหินเป็นตามธรรมชาติ"

Read More

พระพักตร์ที่งดงามได้มาอย่างไร


กล่าวถึงพระเนตร(ตา) และปาก ก่อนที่จะติดตั้งตาได้นั้น ได้ทำแบบโดยใช้ดินน้ำมันปั้นเป็นมาและฝังด้วยนิลดำ นำไปให้หลวงปู่สงฆ์พิจารณา หลวงปู่ได้ใช้มือลูบที่ดวงตานั้นแล้ว

และแนะนำว่าให้ไปแต่งหางตาใหม่ให้เรียวงามกว่านี้ และให้เปลี่ยนจากนิลดำมาเป็นหอยมุกมาเป็นเกร็ดตาขาวแทน ส่วนปากนั้นได้ตกแต่งหลายครั้งด้วยฝีมือหลวงพ่อพลอย ผู้ปั้นได้ระบายสีและตกแต่งเอง หลังจากตกแต่งแล้วก็ใช้สปอร์ไรย์ส่องสว่างไปยังใบหน้าของพระเกศแก้วจุฬามณีเพื่อให้ประชาชนได้ติชม เมื่อมีคำติมาก็ทำการแก้ไขตกแต่งใหม่ ตามความประสงค์จนเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย จนได้พระเกศแก้วที่มีพระพักตร์อิ่มเอิบและงดงาม
ปริศนาธรรมขององค์พระเกศแก้วจุฬามณี ตามที่หลวงปู่สงฆ์ได้นิมิตให้สร้างครึ่งองค์ลักษณะผุดจากภูเขา
พระผู้ที่จะบรรลุธรรมนั้นจะมีนิมิตเห็นพระพุทธรูปผุดขึ้นในดอกบัวบานครึ่งองค์ ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน" พระที่ผุดขึ้นเห็นในนิมิตนั้น ก็คือผู้ที่จะบรรลุธรรมนั้นเอง

Read More

หลวงปู่สังวาลย์ เขมโกช่วยสร้างพระเกศแก้วจุฬามณี

หลวงปู่สังวาลย์ เขมโกและคณะสงฆ์ จากวัดเขาสารพัดดี อ.หันคา จ. ชัยนาทได้มาช่วยสร้างพระเกศแก้วจุฬามณี

โดยชักชวนญาติโยมที่จิตศรัทธา มาร่วมกันบริจาคปัจจัยสร้างพระเกศแก้วจุฬามณี จนกระทั้งสำเร็จเป็นองค์พระเกศแก้วจุฬามณีที่งดงาม สมความประสงค์ของหลวงปู่สงฆ์ทุกประการ ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 3 ปี 8 เดือน สำเร็จในปี 2515

Read More

บารมีหลวงปู่


หลวงปุ่บุดดา ถาวโร เดินทางมาโปรดญาติโยมที่ถ้ำภูคา ในระหว่างการก่อสร้างนั้นชาวบ้านก็มีกำลังใจมากขึ้น สิ่งอัศจรรย์คือ ทุกๆคืนคนจะหลั่งไหลมาช่วยกันขนทราย อุปกรณ์ต่างๆไม่ต่ำกว่า 200 คน

หลวงปู่กลับมาที่ถ้ำภูคาในครั้งนี้ได้สร้างความประทับใจหลายอย่างติดตาตรึงใจให้กับลูกหลานถึงทุกวันนี้คือ หลวงปู่จะอยู่กับลูกหลานทุกสถานที่ที่ลูกหลานทำงาน ทั้งๆที่พวกเราเป็นห่วงหลวงปู่ อยากที่จะให้หลวงปู่ได้พักผ่อน แต่หลวงปู่ก็มีเมตตาคอยให้กำลังใจลูกๆหลานๆอยู่ตลอดเวลาของการก่อสร้าง เวลาที่หลวงปู่นั่งพักผ่อน หลวงปู่ก็มิได้นั่งเฉยๆ หลวงปู่จะถักถลกบาตร ถักหมวก ทำที่รองบาตร และเย็บย่าม ในแววตาของหลวงปู่นั้นบริสุทธิ์ใสเต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตาอันเหลือล้นจริงๆ

Read More

เกร็ดย่อย เกร็ดยาก ในการสร้างพระเกศแก้ว

เมื่อขนอุปกรณ์ในการก่อสร้างมาถึงวัดแล้ว ทหารและชาวบ้านจะต้องขนอุปกรณ์ ปูน ทราย เหล็กเส้น ขึ้นไปบนยอดเขาภูคาซึ่งสูงมาก นี้คืออุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่พบคือไม่มีทางขึ้นเขา

มีแต่ทางที่ชาวบ้านใช้กันเดินเพื่อหาหน่อไม้ เท่านั้น....ทำให้คณะผู้ก่อสร้างนั้นมืดแปดด้านไม่รู้ว่าจะทำยังไง พระครูพลอยหรือหลวงพ่อพลอยที่ชาวบ้านเรียกกันมาประชุมหารือกันว่าจะทำยังไงที่ว่าจะขนอุปกรณ์ต่างๆขึ้นไปบนยอดภูเขาได้ สุดท้ายหลวงพ่อพลอยนึกได้ว่าภายในถ้ำนั้นมีปล่องที่พอจะใช้รอกขนอุปกรณ์ผ่านทางปล่องถ้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างสถานที่ที่หลวงปู่สงฆ์และหวงปู่บุดดาสำเร็จธรรม ขึ้นไปบนเขาได้ การขนอุปกรณ์ก่อสร้างนั้นต้องใช้กำลังคน กำลังกาย กำลังใจและที่กำลังศรัทธาเป็นจำนวนมาก เพื่อมาร่วมกันสร้างบารมี การขนอุปกรณ์นั้นได้กำลังคนส่วนมากมาจากทหาร ชาวบ้านใกล้เคียง ได้แก่ หนองสระ เขาตอง แหลมช้างร้อง หนองพังพวย ดงมะกุ กฐินงาม โรงนา หัวหวาย และเขาภูคา การก่อสร้างใช้เวลาตอนกลางคืนหลังจากที่ชาวบ้านเสร็จงานจากไร่ นาแล้ว คระกรรมวัดต้องจุดเทียนเจ้าพายุ เดินไปรับชาวบ้าน แต่ละหมู่บ้าน หลังจากเสร็จงานก็ต้องเดินกลับไปส่ง ตามเส้นทางที่เป็นทุ่งนา เดินตามคันนา ลัดป่าบ้าง การก่อสร้างดำเนินการไปนานประมาณ 2 ปี ผ่านไปกำลังใจของชาวบ้านก็เริ่มอ่อนล้าลง

Read More

สร้างพระพุทธเกศแก้วจุฬามณี




ปีพ.ศ. 2512 หลวงปู่สงฆ์ได้มีการประชุมสงฆ์ซึ่งเป็นสายพระปฏิบัติ โดยมีหลวงปู่บุดดา หลวงปู่เกลื่อน หลวงปู่สังวาลย์ โดยหลวงปูสงฆ์ดำริจะสร้างพระพุทธรูปเกศแก้วจุฬามณีในขณะนั้นตาของหลวงปู่ไม่สามารถมองเห็นได้ ที่หลวงปู่นิมิตเห็นว่าพระพุทธรูปเกศแก้วจุฬามณีซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ให้มาประดิษฐานที่เขาภูคา

เพื่อที่จะตอบแทนพระคุณให้กับสถานที่ ที่ได้บรรลุธรรม หลังจากที่การประชุมสงฆ์กันแล้ว หลวงปู่สงฆ์จึงได้มอบหมายให้หลวงปู่บุดดา และหลวงปู่สังวาลหาพระที่มีบารมี มีความสามารถที่จะสร้างพระให้สำเร็จได้ไปดำเนินการสร้าง เมื่อพิจารณาแล้วหลวงปู่สังวาลย์จึงได้เลือกพระครูพลอย ซึ่งเป็นศิษย์หลวงปู่สังวาลย์ หลวงปู่ได้ส่งพระครูพลอย แม่ชีผวน พระเงิน(ลาสิกขาแล้ว) มาสำรวจพื้นที่ที่ถ้ำเขาภูคา หลังจากสำรวจบนยอดเขาที่จะสร้างพระเกศแก้วจุฬามณีแล้ว บนยอดเขาสูงและยังอยู่ใกล้สนามบินกองบิน 4 ตาคลี จึงต้องดำเนินการขออนุญาตทางราชการทหาร ฝ่ายปกครองทางอำเภอในการก่อสร้าง การขออนุญาตแต่ละครั้งนั้นผู้ที่ติดต่อประสานงานและเป็นธุระนั้นเป็นหน้าที่ของ ผู้ใหญ่สมศักดิ์ บุตรปรารมภ์ การดำเนินการครั้งที่ 1 ไม่มีใครมีอำนาจจะอนุญาตให้สร้างพระพุทธรูปได้เลย ความตั้งใจเหมือนว่าจะสูญสลาย แต่ผู้ใหญ่ก็มิได้ละความพยายาม ที่จะสร้างพระเกศแก้วจุฬามณี จึงกลับมาปรึกษาหารือกับท่านพระครูพลอยอีกครั้งหนึ่ง และดำเนินการวาดโครงสร้างโดยให้พระครูพลอยเป็นผู้วาดภาพ เมื่อวาดเสร็จก็ได้นำกลับไปให้หลวงปู่สงฆ์ได้พิจารณาดู(ด้วยตาใน) ภาพวาดในครั้งแรก ที่พระครูวาดไปนั้นหลวงปู่ดูแล้วว่าจะไม่ตรงกับภาพนิมิตที่หลวงปู่ได้เห็น จึงต้องนำกลับมาแก้ไขใหม่เป็นอย่างนี้ถึงสามครั้งจึงได้ภาพพระเกศแก้วจุฬามณีตามความประสงค์ของหลวงปู่สงฆ์
ส่วนในการสร้างพระพุทธรูปนั้นจะต้องหันพระพักตร์ไปด้านทิศตะวันออกเสมอ แต่หลวงปู่สงฆ์ได้พิจารณาทั้งสถานที่ที่อยู่บนยอดเขาภูคาอย่างชัดเจนแล้วว่า สมควรที่จะให้หันพระพักตร์ไปทางทิศใต้เพื่อที่จะให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชาได้ทุกสารทิศ แม้นว่าความสูงจะกีดขวางทางการบิน ก็ยังให้ทุกคนที่อยู่บนเครื่องบินนั้นได้กราบไหว้ หลวงปู่สงฆ์ได้มอบหมายให้พระครูพลอย พระเงิน แม่ชีผวน ผู้ใหญ่สมศักดิ์ โดยมีคำบัญชาเหมือนกับการให้พรให้กำลังใจ กับคณะผู้สร้างว่า "โยม ต้องเป็นเหล็กกล้า เป็นหินชา ไม่หวั่นไหวกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆทั้งสิ้น) หลังจากที่หลวงปู่ให้พรแล้วแล้ว ผู้ใหญ่สมศักดิ์กราบเรียนถามหลวงปู่ว่า "ถ้าสร้างพระเกศแก้วมณีแล้ว เมื่อไหร่จะสำเร็จครับ" หลวงปู่ตอบว่า "7 วัน 7 เดือน 7 ปี ก็ต้องแล้วเสร็จ"
เมื่อได้รับคำบัญชาหรือคำให้พรจากหลวงปู่แล้ว คณะได้กลับมาดำเนินการปรับพื้นที่บนยอกดเขาภูคาโดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ แม้ทั้งๆที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ก่อสร้างพระเกศแก้วจุฬามณีเลย เมื่อปรับพื้นที่บนยอดเขาแล้วคณะก็ได้กลับไปกลับเรียนรายงานกับหลวงปู่ ครั้งนี้ได้รับปัจจัยบริจาคเป็นครั้งแรกเพื่อทำการก่อสร้างพระเกศแก้วจุฬามณี เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท จากอุบสิกา หม่อมหลวงเพ็ญศรี (ไม่ทราบนามสกุล) โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารออมสิน สาขาตาคลี เมื่อได้ปัจจัยในการบริจาคจากหม่อมหลวงเพ็ญศรี ทางวัดจึงได้นำไปซื้อเหล็กเส้นที่ร้านกิจไพศาลในตลาด อำเภอตาคลี แต่ไม่มีถนนที่จะขนวัสดุอุปกรณ์มายังวัดเขาภูคาได้เลย (เพราะนั้นสมันนั้น มีแต่ทางเกวียน ถ้าวัดระยะทางจากตลาดตาคลี มายังวัดเขาภูคาก็ประมาณ 22 กิโลเมตร) ทางคณะผู้ดำเนินการก่อสร้างจึงได้ประชุมกันกับชาวบ้านเพื่อรวบรวมเกวียน วัว ควาย ม้า และคน เพื่อที่จะไปช่วยกันขนวัสดุอุปกรณ์จากตลาดตาคลีมาวัดเขาภูคา
จากการที่คณะผู้ก่อสร้างได้เจอปัญหาใหญ่หลวงนัก จึงได้เดินทางกลับมาที่วัดอาวุธดุสิตดาราราม ที่กรุงเทพมหานครที่หลวงปู่อยู่เพื่อถวายรายงานอีกครั้งหนึ่ง หลวงปู่บัญชาว่า "โยมกลับไปครั้งนี้ทางก็จะมาแล้ว ไม่ต้องให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อนหรอก" หลังจากคำบัญชาของหลวงปู่เพียง 2 วัน ความอัศจรรย์ก็เกิดขึ้น ทางกองบิน 4 ได้นำรถเกรดเตอร์ทำถนนเข้าวัดเขาภูคาเพื่อที่จะส่งทหารลาดตะเวนมาประจำการที่เขาภูคา (ยุคนั้นเป็นคอมมิวนิสต์แทรกซึม) เพื่อดูแลความสงบของชาวบ้าน
ปัจจัย 20,000 บาท ที่ทางวัดได้รับจากอุบาสิกาหม่อมเพ็ญศรีนั้นถือว่าเป็นมหากุศลอีกทั้งยังได้รับความศรัทธาจากทางหน่วยงานราชการมาร่วมใจกันสร้างพระเกศแก้วจุฬามณี โดยที่พระครูพลอยนั้นได้ทำหนังสือขอความร่วมมือส่งไปยังผู้การกองบิน 4 เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการขอกำลังพล ยานพาหนะ อุปกรณ์เครื่องปั่นไฟฯลฯ เพื่อก่อสร้างพระเกศแก้วจุฬามณี ทุกอย่างนี้ได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดีจากทางกองบิน 4 ตลอดจนแล้วเสร็จ

Read More