รูปภาพของฉัน
Thailand
วัดเขาภูคาจุฬามณี คือวัดเขาภูคา บ้างก็เรียกวัดถ้ำเขาภูคา ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นวัดมหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2513 โดยการดูแลของ พระอธิการสุชาติ อุชุโก ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส องค์ปัจจุบัน วัดเขาภูคามีถ้ำอันศักดิ์สิทธิ์น่าเที่ยวชม บนยอดจะประดิษฐ์พระเกศแก้วจุฬามณีพระพุทธรูปครึ่งองค์ และรอยพระพุทธบาทพระสิทธัตถะ (เป็นพระพุทธบาทอันแท้จริงซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกแผ่นดินแล้ว) ซึ่งโดยรอบพระพุทธบาทจะครอบด้วยมณฑปขนาดใหญ่มีความสงบร่มเย็นเหมาะแก่การปฏิบัติเจริญสมาธิ จึงได้มีญาติโยมในท้องถิ่นและชาวจังหวัดใกล้เคียงหลั่งไหลกันมาปฏิบัติธรรม และเยี่ยมชมสิ่งประดิษฐ์อันงดงาม ที่ธรรมชาติและบรรพบุรุษได้บรรจงสร้างให้แก่ชนรุ่นหลัง

09 ตุลาคม 2551

ก่อตั้งบ้านเขาภูคา




ตาศีลา เกิดที่บ้านคามหาม จ. ร้อยเอ็ด เมื่ออายุได้ 13 ปี ได้บวชเป็นสามเณร ได้เดินเท้าตามพระรูปหนึ่งมายัง

จังหวัดลพบุรี ต่อมาพระและตาศีลาได้แยกทางกันและตาสีลาก็ได้สึก โดยต่อมาได้แต่งงาน อยู่กินกับยายมนฑา ที่บ้านหนองทรายขาว อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ประกอบอาชีพทำนา ด้วยความที่แม่ยายคือ นางชวดแบนมีลูกมากและลูกๆก็ได้แต่งงานออกเรือนไปก็ไม่มีที่ทำกิน จึงคิดที่จะหาที่ทำกินใหม่เพื่อตั้งหลักปักฐานใหม่ ดังนั้นนางชวดแบนจึงเรียกตาศีลาและลูกมาคุยกันว่าจะย้ายถิ่นฐานหาที่ทำกินใหม่ ตาศีลาจึงพาครอบครัวและญาติๆอพยพขึ้นมาทางเหนือ โดยขึ้นรถไฟมาลงที่สถานีบ้านหัวหวาย ตาได้เล่าให้ฟังว่า ครั้นมาถึงตาคลีก็คิดจะจับจองที่ดินแถวนี้ แต่เมือดูแล้วมีน้อยและเป็นป่าหนาม ป่ารัก ถ้าทำนามันคงไม่เจริญงอกงามแน่ จึงพักค้างคืนหนึ่งที่หัวหวายแล้วเดินต่อต่อมาเรื่อยๆจนได้พบกับภูเขาลูกนี้ สมัยนั้นบริเวณภูเขาลูกนี้ก็เป็นป่าไม้รวก , ป่าไผ่ , ป่าเบญจพรรณ มีสัตว์ป่าต่างมากมากมายไม่วาจะเป็น เสือ , ช้าง , นกยูง , ไก่ป่า ตาและญาติๆได้ช่วยกันถากถางแล้วปลูกกระท่อมอาศัยอยู่ชั่วคราว การอพยพมาครั้งแรกนี้มีแต่ครอบครัว ลูกๆหลานๆของนางชวดแบนรวม 23 หลังคา และเรียกหมู่บ้านใหม่ว่า “เขาภูคา” ซึ่งสอดคล้องกับบ้านเดิมของนางชวดแบน คือ บ้านพุคา ต. เขาพระงาม จ. ลพบุรี โดยมีตาสีลาเป็นหัวหน้า
จากนั้นก็ได้จับจองที่ดินกันจนสามารถที่จะทำไร่ ทำนาได้ ขณะนั้นตาศีลาทำไร่ ทำนาและทำงานอีเตอร์ (คนงานทำทางรถไฟ) ชาวบ้านบางคนก็ตัดฟืนหลาส่งให้กับการรถไฟ สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านสมัยนั้นก็อยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยกันฟันไม้ เลื่อยไม้ มาทำที่อยู่อาศัยแบบถาวร อาหารก็หาของป่ามากิน การเดินก็ต้องเดินเท้า จะไปตลาดในแต่ละทีก็ต้องเดินเท้าไปที่สถานีรถไฟดงมะกู เพื่อขึ้นรถไฟไปลงที่ตลาดตาคลี จะไปหาญาติพี่น้องต่างหมู่บ้านก็ต้องใช้วิธีเดินเท้าไป ตาบอกว่านานๆถึงจะออกไปตลาด จะออกไปครั้งหนึ่งก็เมื่อมีงานบุญใหญ่ๆ เช่น เข้าพรรษา ออกพรรา ทำบุญสาด แต่ก่อนนั้นไม่มีวัดไม่มีพระ ถึงวันพระทีชาวบ้านก็พากันทำบุญที่วัดสว่างวงษ์ตาคลี
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2499 ทางราชการประกาศให้บุคคลที่ไม่มีนามสกุล ให้ไปจดทะเบียนขอนามสกุลได้ ตาศีลาก็ได้ไปจดทะเบียนนามสกุล คือเอาชื่อพ่อของตาและชื่อแม่ของตามาตั้งเป็นนามสกุล คือพ่อชื่อ แสง แม่ชื่อ นิลจึงของจดทะเบียนนามสกุลว่า “แสงสีนิล” ทั้งนี้ตาก็ขอจดทะเบียนชื่อหมู่บ้านพร้อมเลย โดยแยกออกมาจากหมู่ 1 หัวหวาย มาเป็นชื่อหมู่บ้านเขาภูคา หมู่ 2 ต. หัวหวาย ด้วยความที่ตาเป็นคนโอบอ้อมอารีย์ ตาได้เดินทางกลับไปยังภาคอีสานบ้านเกิดของตาและได้ชวนเพื่อนและหลานๆของท่านมาอยู่ที่เขาภูคาด้วยกัน แล้วก็แบ่งที่ทำกินให้ รวมผู้ที่อพยพมาทั้งทางบ้านหมี่และภาคอีสานด้วย